หลังจากที่อุตสาหกรรมเกมออนไลน์อย่าง E-sports ได้รับการบรรจุเป็นกีฬา ผู้ใหญ่หลายฝ่ายในบ้านเราก็เริ่มแสดงความเป็นห่วงว่า สิ่งนี้จะกลายเป็นสิ่งมอมเมาเด็กและเยาวชนของไทย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีกลุ่มคนมากมายที่แสดงความเห็นต่างออกไปว่า ไม่ว่า E-sports จะได้รับการบรรจุเป็นกีฬาหรือไม่ ยังไงเด็กก็มีภาวะติดเกมอยู่ดี การจะทำให้เป็นกีฬาสากลหรือไม่นั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่สิ่งที่น่าจะมานั่งพูดคุยกันก็คือ จะทำอย่างไรให้เกมออนไลน์เกิดประโยชน์จริง ๆ กับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ต่างหาก
อี-สปอร์ต ความหลากหลายของโลกเสมือนที่ทำให้คนรุ่นใหม่ติดใจ
เกมออนไลน์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเกมสไตล์ E-sports นั้นจริง ๆ มีอยู่หลากหลายแนวด้วยกัน ทั้ง Real Time Strategy (RTS) เกมที่มีเนื้อหาเน้นการวางแผน สร้างเมืองสร้างกองทัพของตนเองให้เกิดความแข็งแกร่งเพื่อให้พร้อมสำหรับการออกไปต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม เกมแนว First Person Shooter (FPS) เกมสไตล์ยิงแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่ง มุมมองของผู้เล่นนั้นจะเห็นแค่มือของตัวละครที่ถือปืนอยู่เท่านั้น และยังมีแนว Sport Game เกมออนไลน์แนวกีฬา ทั้งฟุตบอล และบาสเกตบอล และยังมีอีกหลากหลายแนว ที่ต่างไปหรือเป็นการผสมผสานหลายแนวเข้าด้วยกัน ความหลากหลายแบบนี้กลายเป็นรสชาติใหม่ที่ซึมลึกเข้าไปถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ได้อย่างง่ายดาย จึงทำให้เยาวชนรู้สึกว่านี่คือสิ่งหนึ่งที่พวกเขาจดจ่ออยู่กับมันได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนตัวแทนที่บรรยายอารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการบางอย่างของพวกเขาออกมาให้เป็นรูปธรรม จึงไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะอุทิศเวลาหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้กับบรรดาเกมออนไลน์ที่มีชื่อเสียง
อี-สปอร์ต สิ่งที่สังคมควรค้าน หรือ ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว
แม้ตอนนี้ E-sports จะเปิดเผยตัวตนและพิสูจน์ตัวเองมาระดับหนึ่งแล้วว่า ก็สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าอะไรบางอย่างได้เหมือนกัน แต่ก็ยังมีกระแสต่อต้านคัดค้านจากผู้ใหญ่ในสังคมอยู่เหมือนเดิมว่า ควรจะหยุดส่งเสริมเรื่องการเล่นเกมออนไลน์เป็นอาชีพเสียที และในมุมมองด้านตรงข้ามก็สะท้อนกลับไปว่าเรากลับน่าจะเร่งส่งเสริมให้ E-sports เติบโตมากกว่านี้ เพื่อทำให้ E-sports กลายเป็นเรื่องที่ธรรมชาติของสังคมยุคดิจิทัล เมื่อ E-sports กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้แล้ว การเล่นเกมออนไลน์ก็จะไม่ต่างอะไรกับการดูหนังฟังเพลง หรือการเล่นกีฬาทั่วไป พ่อแม่จะรู้สึกว่าเกมออนไลน์ก็คือกิจกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าลูก ๆ เขาทำได้ดี ก็จะมีอนาคตสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองต่อไป เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ในกระแสความคิดความเชื่อและทัศนคติของผู้คนในแต่ละ Gen เป็นความท้าทายใหม่ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องหาทางที่จะฟันฝ่าไป ทุกอย่างก็มีข้อดีข้อเสียในตัวเองเสมอ เพียงแต่ว่าถ้ามีดีมากกว่าเสียสังคมก็จะรับได้มากกว่าเท่านั้น
สำหรับอี-สปอร์ตแล้ว เชื่อว่ายังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการพิสูจน์ตนเอง แต่ที่แน่ ๆ สิ่งนี้ได้สะท้อนให้เราทุกคนเห็นสิ่งหนึ่งแล้วว่า โลกเราเปลี่ยนไปอย่างไร คนที่มีความหลงใหลอะไรแบบรุนแรงสักอย่าง สามารถที่จะเปลี่ยนสิ่งที่รักเป็นอาชีพทำเงินและสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้เสมอ แม้กระทั่งสิ่งที่คนมองว่าไร้สาระอย่างการเล่นเกมออนไลน์ก็สามารถทำเงินได้ นี่แหละพลังแห่งเทคโนโลยีที่ทำให้โลกเปลี่ยนและส่งผลให้ความคิดความรู้สึกของคนก็เปลี่ยนไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ